รอก (HOIST) คืออะไร / มีลักษณะการทำงานอย่างไร
รอก หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า HOIST คืออุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวก ในการใช้ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากขึ้นในแนวดิ่ง ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักๆ คือ
1.ส่วนของตัวเกี่ยวยึด ซึ่งมี 2 ตำแหน่ง คือตำแหน่งที่ยึดกับคานหรือแกนต่างๆที่มีความแข็งแรง อาจเป็นคานที่เป็นแบบไม่เคลื่อนที่ หรืออาจเป็นเครนเพื่อต้องการเพิ่มการเคลื่อนที่ในแนวขนานได้ อีกตำแหน่งคือ ส่วนที่จะไปจับยึดหรือเกี่ยวกับวัตถุที่ต้องการให้เคลื่อนที่ ซึ่งลักษณะจะคล้ายตะขอเกี่ยว
2.ส่วนที่พาให้เคลื่อนที่ ส่วนนี้จะประกอบไปด้วยลูกล้อและอุปกรณ์ในการชักรอก หากเป็นงานเบาสามารถใช้ "เชือก และ สายพาน" หากของมีน้ำหนักก็จะใช้ "โซ่ หรือ ลวดสลิง" ก็ขึ้นอยู่กับการรับน้ำหนักของวัตถุ ประเภทและชนิดของรอก
รอกมีอยู่ด้วยกันหลาย ชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ในปัจจุบันมีการผลิตรอกมากมาย ซึ่งก็จะมีการกำหนดน้ำหนักในการใช้งาน รอกสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการทำงานเป็น 3 ประเภทหลัก
1.รอกโซ่มือสาว (Chain Block) มีลักษณะการทำงานหลักโดยใช้มือสาวหรือชักรอก สามารถติดตั้งได้ง่ายไม่ยุ่งยาก เหมาะกับงานที่ต้องการยกเป็นครั้งคราวหรือในสถานที่ไม่มีไฟฟ้าใช้งาน เนื่องจากใช้แรงงานคนในการใช้งาน
2.รอกโยกโซ่ หรือ รอกกำมะลอ (Level Block or Level Hoist) มีลักษณะการทำงานแบบเดียวกันกับ รอกโซ่มือสาว แต่จะมีด้ามใช้ในการโยกแทนการใช้มือสาวก็จะช่วยลดแรงในการทำงานได้หากงานนั้นๆมีน้ำหนักมาก
3.รอกไฟฟ้า (Electric Chain Hoist) มีลักษณะการทำงานโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการชักรอกโดยผ่านอุปกรณ์ควบคุม ทำให้สะดวกในการทำงาน ลดเวลาในการทำงาน ต้องการความปลอดภัยสูง
ทิศทางในการทำงานของรอก
- ทำงาน 2 ทิศทาง โดยหลักแล้วจะเป็นการทำงานในแนวดิ่ง (ขึ้น ลง) มักใช้งานแบบถาวรในจุดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- ทำงาน 4 ทิศทาง โดยจะเป็นแนว ขึ้น ลง ซ้าย ขวา ซึ่งที่รอกจะมีลูกล้อวิ่งบนราง I-Beam
- ทำงาน 6 ทิศทาง โดยจะเป็นแนว ขึ้น ลง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ซึ่งจะนำรอกไปติดตั้งร่วมกับชุดเครน (Crane) อีกทีทำให้เคลื่อนที่ไปได้ในหลายทิศทาง